วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ความรักคืออะไร



ห่างหายกันไปหลายวัน ที่ผมไม่ได้เข้ามาเขียน เหตุผลก็เนื่องจากว่า ไม่มีหัวข้อจะเขียน บวกกับ ยังไม่มีกะจิตกะใจจะที่จะเขียนบรรยาย มาวันนี้ไม่รู้ผมเกิดโรแมนติกอะไร อยากจะเขียนเรื่อง “ความรัก” โดยอุปนิสัยส่วนตัวแล้ว เป็นคนไม่ค่อยสันทัดหรือมีความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวความรักมากมายหรอก ชีวิตที่ผ่านมา 20 กว่าฝน เคยรักเป็นมาครั้งสองครั้ง แต่ทุกครั้งก็กินแห้วมาตลอด มีอยู่ประโยคหนึ่งในเรื่อง มังกรหยก ภาคจอมยุทธ์อินทรีย์ ตอนเอี้ยก๊วย กล่าวกับ เซียวเล่งนึ้ง (มังกรน้อย) ว่า “ รักกันแล้วไม่ได้ครองเคียงคู่กัน ในโลกนี้จะมีอะไรเศร้ากว่านี้อีก” เมื่อมองในมุมกลับกัน รักกันแล้วได้เคียงคู่กัน ในโลกนี้คงมีความสุขไม่น้อย

นิยามของความรัก

หากจะถามนิยามของความรักแต่ละคน ก็คงจะมีมุมมองแตกต่างกันออกไป แล้วแต่คนจะประสบและรับรู้สัมผัสถึงความรักในทางที่สมหวังหรือผิดหวัง

บางคนก็ว่า “รัก คือ การเรียนรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด”

บางคนก็ว่า “ รัก คือ บ่อเกิดของกิเลส”

บางคนก็ว่า “รัก คือ ความรุ้สึกดีๆที่มีภายในใจแล้วใช้ใจส่งความรู้สึกนั้นให้อีกฝ่ายหนึ่ง(ผู้ที่จะรับความรู้สึกนั้นได้ต้องใช้ใจเท่านั้น”

บางคนก็ว่า “รักคือโลกแห่งมายาอันไร้ตัวตน”

บางคนก็ว่า “ความรักคือการแบ่งปันความรู้สึกดีๆให้แก่กัน ไม่มีฉัน ไม่มีเธอ มีแต่คำว่าเรา”

ถ้าจะนำคน 10 คนมาให้นิยามความรัก ผมเชื่อแน่เลยว่า คงไม่มีเหมือนกันสักคน ก็เพราะความรักเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเป็นเรื่องที่เราจะสามารถเข้าใจด้วยตัวเราเอง

ถ้าจะถามผมว่า ความรักคืออะไร? ก็คงจะตอบว่า ความรักคือสิ่งที่สวยงามและไม่สวยงามในสิ่งเดียวกัน ราวกับว่า มันพร้อมที่สุขและทุกข์ได้เสมอ เปรียบเช่นกับ เมื่อรักหวานช่ำ ก็เหมือนกับท้องฟ้าที่มีสีฟ้าสดใส แต่ถ้าหากว่าหม่นหมอง ทุกข์ใจเมื่อไหร่ ฟ้าแห่งความรักกลับกลายเป็นสีเทาทันที

ผมได้เจอบทกลอนที่ประพันธ์ไว้และให้แง่คิดได้ดีเลยทีเดียวเกี่ยวกับ ความรักคืออะไร ไว้ดังนี้
ความรัก

คือ น้ำผึ้ง คือน้ำตา คือยาพิษ

คือ หยาดน้ำ อมฤต อันชื่นชุ่ม

คือ เกษร ดอกไม้ คือไฟรุม

คือ ความกลุ้ม ความฝัน นั่นแหละรัก

กลอนที่หยิบยกไว้เบื้องต้น แสดงให้เห็นว่า ความรักมีอยู่สองด้าน คือ ด้านดีและด้านไม่ดี แต่จะเห็นได้ว่า ด้านดีมีมากว่าด้านไม่ดี

รูปแบบของความรัก

John Lee เขียนไว้ในหนังสือของเขาชื่อ The colors of love ว่าความรักมีอยู่ 6 ชนิดด้วยกัน

1. Eros เป็นความรักที่มีความใคร่ และปรารถนาจะรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง เกี่ยวกับบุคคลที่รัก รวมทั้งประสบการณ์กับบุคคลที่รักอย่างสมบูรณ์

2. Mania เป็นความคลั่งไคล้หลงใหลและเรียกร้องหาบุคคลที่รัก ถ้าผิดหวังมักวิตกกังวลและปวดร้าว

3. Ludis เป็นความรักที่มีอัตตาสูง มองความรักเป็นเสมือนเกมที่ต้องเอาชนะ

4. Storage เป็นความรักฉันท์เพื่อน แล้วกลายไปสู่ความรักแบบคู่รัก

5. Agape เป็นความรักที่มีแต่ความอดทนให้อภัยและการให้

6. Pragma เป็นความรักที่มีเหตุผลซึ่งเกิดขึ้นหลังจากมีการไตร่ตรองแล้ว

รูปแบบของความรักที่ (จอห์น ลี) John Lee ได้กล่าวไว้ ผู้เขียนขออธิบายเพิ่มเติมไว้ดังนี้

Eros เป็นความรักของหนุ่มสาวที่มีเป้าหมายเพียงกามารมณ์ ความรักประเภทนี้จะประเล้าประโลมด้วยสเน่ห์ทางร่างกาย และสุดท้ายก็หนีไม่พ้นตัณหา มองเพียงความสวยงามสุดท้ายก็เลิกกันเพราะเมื่อหมดความงามแล้ว ก็หมดเยื่อใยความรักไปด้วย

Mania เป็นความรักที่หวงแหนเห็นแก่ตัว มองความรักเป็นเพียงสิ่งสนองกิเลส หึงหวงเกินขอบเขต วุ่นวายกับคนรักจนล้ำเส้น เมื่ออีกฝ่ายไม่เห็นด้วยก็ทำทุกวิถีทางให้ได้มา อย่างเช่นมีข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์อยู่บ่อยๆ ล่าสุดก็มีการทำร้ายร่างกายคนรักของคนตนเอง โดยมองแค่เพียงว่า “ เมื่อข้าไม่ได้ก็อย่าคิดว่าใครจะได้เธอไปครอง” แทนที่จะเป็นฝ่ายครอบงำความรักกลับถูกความรักครอบงำ ถ้าเปรียบกับวิทยายุทธ์หนังจีนก็คงฝึกวิชาจนถูกธาตุไฟเข้าแทรก ความรักแบบนี้ เป็น ความรักแบบทำลาย และนำไปสู่จุดจบแห่งโศกนาฏกรรม และการฆ่าตัวตายในที่สุด ที่เห็นฆ่ากันตาย

Ludis เป็นความรักแบบเล่นๆ เห็นเป็นแค่เกมส์การแข่งขัน ที่มองอีกฝ่ายคือตัวทำแต้มเท่านั้น ไม่ได้จริงจัง ใครทำแต้มได้เยอะ คนนั้นได้ชื่อว่า “ราชันย์แห่งความรัก” คนพวกนี้จะมีความรักง่ายหน่ายเร็วไม่ชอบผูกพันธ์ เล่นไปเรื่อยๆ เจอใครสวย ใครหล่อถูกใจก็รักทันที หนึ่งในวลีที่ถูกขับขานเป็นเสียงเพลงโดย วิด ไฮเปอร์ คงจะเป็นตัวแทนแห่งความหมายของ Ludis ได้ดีเป็นอย่าง เนื้อหาในเพลงกว่าว่า

“ไม่ใช่ผู้ชายข้างทาง สว่างก็จะชิ่งกัน
เจ็บปวดกับความสัมพันธ์ สำคัญแค่ตอนดับไฟ
ไม่ใช่ผู้ชายชั่วคราว จบข่าวก็จบเยื่อใย
หมดแม๊กก็แยกกันไป มาฆ่าให้ตายเลยดีกว่า”


ทุกวันนี้คำว่าคาสโนว่า (หญิงใช้คำว่า คาสโนวี่) นั้นเป็นที่นิยมของเหล่าคนเจ้าชู้ จึงใช้กับความรักประเภทนี้ได้เป็นอย่างดี ความรักที่มองเป็นเพียงเกมส์การเล่นนั้นอันตรายเป็นอย่างยิ่ง เพราะหยุดความรักเพียงแค่สัมพันธ์ข้างคืน สนุกแค่เพียงข้ามคืน ยิ่งเลวร้ายกว่านั้นก็เป็นผลแห่งโรคร้ายติดตัวมาด้วย

Storage เป็นความรักที่มีความสนิทสนมกัน ความรักแบบนี้เกิดจากการทำกิจกรรมร่วมกันบ่อยๆ จากที่เคยรู้จักมักคุ้นกันแค่เพื่อน ก็ได้ผันจากมิตรภาพเพียงแค่คำว่าเพื่อน เลื่อนตำแหน่งสู่ความรักแบบคู่รัก

Agape ความรักประเภทนี้เป็นความรักแบบจริงใจ เข้าใจกันเทความจริงใจให้แก่กันและกัน เมื่อมีปัญหาบาดหมางกัน ไม่เข้าใจหรือลงรอยกันก็ให้อภัยกัน พูดกันด้วยเหตุผล ไม่ได้พูดกันด้วยอารมณ์ถือเป็นความรักที่ควรให้แก่และกันเป็นอย่างยิ่ง

Pragma เป็นความรักที่มองดูใจกัน ศึกษาใจกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นศึกษาทรรศคติ นิสัยใจคอซึ่งกันและกัน ความรักประเภทนี้จะเปรียบเหมือนกับต้นไม้ที่งอกงามไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ซาเหมือนสายฝน มีเหตุผลเป็นพื้นฐานของการศึกษาดูความรัก หรือจะเรียกอีกอย่างว่า “รักแท้” ก็ได้ ความรักประเภทนี้ย่อมประกอบด้วย ความรู้สึกรัก อ่อนโยน อบอุ่นเป็นมิตร รู้จักการเสียสละ เป็นผู้ให้มากกว่าเป็นผู้รับ มีความผูกพันทางอารมณ์ นั่นหมายถึง ความห่วงหาอาทร มีเยื่อใยไมตรีต่อกัน มีความสนใจ ดูแลเอาใจใส่ทุกข์สุข ฟูมฟักเลี้ยงดู มีการให้คำมั่นสัญญาต่อกัน ในการปฏิบัติต่อกันอย่างเสมอต้นเสมอปลาย รู้จักให้อภัยต่อกันในความผิดพลาด และเปลี่ยนความผิดพลาดนั้นเป็นบทเรียน มีการพัฒนาการทางสติปัญญา อารมณ์ สังคม และปรารถนาให้คนที่เรารักมีการพัฒนาเจริญเติบโต ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ

ความรักในมุมมองของนักปรัชญา

ความรักในทรรศนะของนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงได้ให้ความหมายที่แตกต่างกันอออกไป จึงขอหยิบยกมาไว้เป็นตัวอย่างดังนี้

เดส์คาร์ตส์กล่าวว่า

“ความรักคือความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาจากมิตรภาพระหว่างเพศ”

กิลเบอร์ดก็พูดไว้ว่า

“ความรักคือสวนดอกไม้ที่ต้องรดด้วยน้ำตาแทนน้ำ”

เชคสเปียร์พูดว่า

“ความรักมักจะทำให้ชายหนุ่มหญิงสาวกระวนกระวายแสวงหาความจริงแท้ว่า “ความรักคืออะไร” แต่ครั้นรู้ความจริงแล้วก็พลันสำนึกได้ว่าเป็นธรรมดาโลกเรานี้เอง”

เพลโต้บอกว่า

“ความรักเป็นโรคจิตชนิดหนึ่งที่ร้ายแรง “

เฟิร์ล เอสบัคกล่าวว่า

“ความรักไม่อาจจะบังคับโลมเล้าหรือยั่วยวนให้เกิดได้ มันเป็นสิ่งที่สวรรค์บันดาลให้โดยมิได้ขอร้องและมิได้แสวงหาแม้แต่น้อย”

ความรักในมุมมองของนักวิทยาศาสตร์

นิวตัน

“มนุษย์จะคงสภาพความรักของตัวเองไว้
คนที่มีความรักก็จะยังคงรักตลอดไป
คนที่ไม่มีรักก็จะไม่รักใครตลอดไป
จนกว่าจะมีแรงดึงดูดที่ไม่เท่ากับ0
มาทำให้คนตกหลุมรัก”


ไอสไตน์

“เมื่อเราเข้าใกล้คนที่เรารัก
เราจะรู้สึกว่าเขารักเรามากขึ้น
แต่ถ้าเราเคลื่อนที่ออกจากคนที่เรารัก
เราจะรู้สึกว่าเขารักเราน้อยลง
นี่แหละสัมพันธภาพ”


คูลอมบ์

“ความรักแปลผกผันกับระยะห่างยกกำลังสอง
ยิ่งอยู่ห่างกันมากเท่าไหร่ ก็จะทำให้ความรักลดน้อยลงเท่านั้น
ตรงกับสำนวนไทยที่ว่า รักแท้แพ้ใกล้ชิด”


สตีเฟน ฮอร์คิง

“ที่สภาวะ Singularity ภายในหลุมดำ
ความรักมีความหนาแน่นเป็นอนันต์
แต่จะมีขนาดความรักเล็กลงจนเหลือแค่ความผูกพัน”



ความรักในมุมมองของนักจิตวิทยา
[1]

นักจิตวิทยาได้แบ่งประเภทของความรัก ตามหลักจิตวิทยา ไว้ดังนี้

1. Passionate love เป็นความรักแบบเสน่หา เป็นความเร่าร้อนทางกาย และทางใจ และสื่อถึงการมีความสัมพันธ์ทางเพศ เช่น ความรักของวัยรุ่น หรือคนหนุ่มสาว ต่างต้องการอยู่ใกล้ชิดแนบสนิทกัน

2. Companionate love เป็นความรักที่พัฒนามาเป็นความรักแบบร่วมทุกข์ร่วมสุข มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยอาจจะมีความสัมพันธ์ทางเพศหรือไม่มีก็ได้ มีลักษณะของการเป็นเพื่อนร่วมเดินทาง มุ่งประโยชน์ต่อคู่ของตน เช่น คู่ตายายที่อยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมานาน ที่เราเรียกว่า Poppy Love หรือสามีภรรยาที่อยู่กินกันมานาน และต่างมีความเป็นผู้ใหญ่ และครองชีวิตคู่ได้อย่างปกติสุข เป็นต้น

ความรักในมุมมองของศาสนา

พุทธศาสนา ได้แบ่งประเภทของความรักไว้ 4 ประเภท ดังนี้
[2]

1. เสน่หา (สิเนหะ) เป็นความรักพื้นฐานประเภทแรกที่ทุกคนมี ซึ่งหมายถึง กิเลส ตัณหา เป็นความรัก ความหลง ตามความต้องการของตนเองในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ดังเช่น วัยรุ่น หรือคนหนุ่มสาว ที่เมื่อมีความรักต่างก็พึงพอใจในรูปร่างหน้าตา กลิ่นน้ำหอมที่ติดผิวกาย เสียงที่ไพเราะ พูดจาอ่อนหวานภาษาดอกไม้ และมีคำพูดออดอ้อนต่อกัน ตลอดถึงการสัมผัสแตะเนื้อต้องตัว ควงแขน โอบกอดกัน เป็นต้น ความรักประเภทนี้ ยังไม่ถือว่าเป็นรักแท้ มักไม่จีรังยั่งยืน และเป็นความรักชนิดที่ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ หรือเรียกว่า เป็นฝ่ายรับมากกว่าเป็นผู้ให้ ต่างต้องการการตอบสนองต่อความต้องการของกันและกัน หากไม่ได้ตามที่ตนต้องการก็จะเป็นทุกข์ และอาจแปรเปลี่ยนเป็นความเกลียดชังกันได้

2. ความรักแท้ (เปมะ) เป็นความรักที่พัฒนามาจากความรักขั้นพื้นฐาน จะแสดงออกถึงการเห็นคุณค่าของคนที่เรารัก ดังเช่น ความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก ความรักแท้ย่อมปรารถนาที่จะเห็นบุคคลอันเป็นที่รักมีความสุข เจริญเติบโตและก้าวหน้า

3. ความเมตตา เป็นความรักแบบปราศจากเงื่อนไข รักและให้โดยไม่หวังผลตอบแทน เป็นความรักแบบบริสุทธิ์ใจ ปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข ดังเช่น พระพุทธเจ้าที่ได้ทรงสละความสุขส่วนพระองค์มาปฏิบัติบำเพ็ญตนจนบรรลุสัจธรรมชีวิต

4.ฉันทะ เป็นความรักที่มีความพอใจ ไม่ว่าจะพอใจในรูปร่าง ประทับใจในความดีต่างๆ เป็นต้น

ศาสนาคริสต์ ถือว่าความรักคือสิ่งสูงสุด คือทุกสิ่ง คือพระลักษณะของพระเจ้า คือพระเจ้า พระเจ้าคือความรัก หลักความรักของศาสนาคริสต์


ศาสนาคริสต์สอนให้รักครอบครัว รักเพื่อนมนุษย์ ดังที่พระเยซูคริสต์ตรัสไว้ว่า
[3]

"เรารักพวกท่าน เช่นเดียวกับที่พระบิดาทรงรักเรา ฉะนั้น จงยึดมั่นในความรักของเรา ถ้าท่านเชื่อฟังคำสั่งสอนของเรา ท่านก็ย่อมจะยึดมั่นในความรักของเรา เช่นเดียวกับที่เราเชื่อฟังคำสั่งสอน ของบิดาของเรา และยึดมั่นใน ความรักของพระองค์"

จากคำกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่า พระเยซูคริสต์ทรงสอนให้มนุษย์ยึดมั่นในความรัก นอกจากนี้ศาสนาคริสต์ยังสอนให้รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตน ซึ่งเพื่อนบ้านในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะคนที่ อยู่บ้านใกล้กัน แต่รวมไปถึงคนทั่วไปไม่ว่าจะเป็นคนแปลกหน้าตามท้องถนนหรือแม้กระทั่งศัตรูก็ตาม ดังคำสอนที่ว่า "จงรักศัตรูและอวยพรแก่ผู้ที่แช่งด่าท่าน จงทำคุณแก่ผู้ที่เกลียดชังท่าน และจงอวยพร ให้แก่ผู้ประทุษร้ายเคี่ยวเข็ญท่าน เพื่อท่านทั้งหลายจะได้เป็นบุตรของพระบิดาของท่านผู้อยู่ในสวรรค์ เพราะว่าพระองค์ทรงบันดาลให้ดวงอาทิตย์ ขึ้นส่องสว่างแก่คนดีและคนชั่ว และให้ฝนตกแก่คนชอบธรรม และอธรรม" ดังนั้น จึงพอสรุปได้ว่า หลักความรักในศาสนาคริสต์นั้น มิได้หมายถึงอารมณ์ความรู้สึก เช่นชายหญิงรักกัน แต่หมายถึงความเมตตา กรุณา เสียสละ และการให้อภัย ศาสนาคริสต์สอนว่า มนุษย์ทุกคนล้วนเป็นบุตรของพระเจ้า จึงควรรักกันเสมือนพี่น้อง และควรให้ความรัก แก่ทุกคนแม้กระทั่งศัตรู

ศาสนาอิสลาม
[4]

ความรักมีอยู่ 4 แบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องให้แยกแยะให้เห็นความแตกต่างระหว่างมัน และได้มีผู้ที่หลงทางเพราะว่าพวกเขาไม่อาจแยกแยะมันออกจากกันให้เห็นชัดได้

ความรักแบบแรก คือ รักอัลลอฮฺ แต่ความรักนี้เพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอที่จะช่วยให้บุคคลนั้นรอดพ้นจากการลงโทษของอัลเลาะฮฺ และจะได้รับรางวัลจากพระองค์ พวกมุชริกีน ผู้บูชาไม่กางเขน ยิว หรือกลุ่มอื่นๆ ทั้งหมดนั้นก็รักอัลเลาะฮฺทั้งสิ้น

ความรักแบบที่สอง คือ รักสิ่งที่อัลลอฮฺรัก นี่คือสิ่งที่นำบุคคลนั้นมาสู่อิสลามและออกจากการเป็นกุฟรฺ กลุ่มชนซึ่งเป็นที่รักที่สุดของอัลเลาะฮฺคือกลุ่มชนผู้ซึ่งขัดเกลาตนเองที่สุดและอุทิศตัวที่สุดในความรักแบบนี้

ความรักแบบที่สาม คือ รักเพื่ออัลลอฮฺ ซึ่งเป็นแก่นอย่างหนึ่งของความรักในสิ่งที่อัลลอฮฺรัก ดังนั้น ความรักของคนๆหนึ่งต่อสิ่งที่อัลลอฮฺรักจะไม่สมบูรณ์จนกว่าเขาจะรักเพื่ออัลเลาะฮฺด้วย
ความรักแบบที่สี่ คือ รักบางสิ่งเคียงคู่ไปกับอัลลอฮฺ ความรักนี้จะนำไปสู่การกระทำพร้อมมีชิรกฺ(การตั้งภาคี) ทุกคนที่รักสิ่งอื่นเคียงคู่กับอัลลอฮฺแต่ไม่ได้รักเพื่ออัลลอฮฺนั้น ถือว่าได้นำสิ่งนั้นมาเป็นเทียบเคียงคู่กับอัลลอฮฺ นี่เป็นความรักของพวกมุชริกีน

ความรักในแบบที่ห้า เป็นความรักที่ไม่มีให้หัวข้อของเรา ก็คือ ความรักแบบธรรมชาติ ซึ่งเป็นความรักความชอบที่ตอบสนองความต้องการตามธรรมชาติของเขา


จากมุมมองของความรักทั้งในเรื่องของนักปรัชญา นักวิทยาศาสตร์ นักจิตวิทยา และศาสนา ก็มีมุมมองของความรักที่มีทั้งเหมือนและต่างกันออกไป รวมความก็คือ ความรักก็เหมือนกับมีดสองคมที่จะมาทำร้ายเราก็ได้ถ้าหากเราปล่อยให้ความรักอยู่เหนือการควบคุมจนกลายเป็นความลุ่มหลง แต่ถ้าเราสามารถควบคุมและบังคับความรักให้ไปในทางทิศทางใดทิศทางหนึ่งเมื่อนั้นแหละคุณจะพบกับความสุขในความรัก









แหล่งอ้างอิง

[1]อ. ชนาภา วินิจวัฒนาวงษ์ อาจารย์ประจำศูนย์บริการนักศึกษา มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
[2] เรื่องเดิม
[3] จากหนังสือเรียนสังคมฯ ม.1, ม.2 (อจท.)
[4] โดย อัลลามะฮฺ อิบนุ กอยยิม อัล เญาซียะฮฺ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น